Thursday, March 19, 2015

อนาคต ยิ่งลักษณ์ อนาคตประเทศไทย...ใครกำหนด?

การรับฟ้องนายกยิ่งลักษณ์ ด้วยเหตุการปล่อยให้เกิดความเสียหาย จากนโยบายจำนำข้าว เพื่อเริ่มการไต่สวนในวันที่  19 มีนาคมนี้นั้น เป็นเรื่องที่หลายคนคาดเดาไว้ล่วงหน้าแล้ว และก็เป็นดั่งคาด แต่คำถามสำคัญต่อจากนี้ ก็คือมันจะเกิดผลอะไรตามมา อนาคตประเทศไทยจะเป็นอย่างไร?

วลีว่า ฟันธง หรือ ปักธง เป็นความเชื่อของผู้ที่อ่านการเมืองเป็นจำนวนมาก และไม่น่าจะผิดซะด้วย

แปลว่า หากเป็นตามนี้ ธงที่ปักก็คือ ทำลายตระกูลชินวัตร ไม่ให้มีโอกาสมาเป็นตัวแปรสำคัญในสงครามอำนาจ ระหว่างกลไกเครือข่ายพระราชา และ พลังประชาชน  ระหว่างโลกเก่ากับโลกใหม่ และการชิงสร้างประเทศไทยให้เป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ใหม่หรือระบอบเสรีประชาธิปไตย


ธงนี้ ถูกถือให้มั่น แล้วปักบนแผ่นดินไทย ที่ตระกูลชินวัตรต้องยอมหมอบกราบสยบยอม และขอส่วนแบ่งอันน้อยนิด เพียงเพื่อให้อยู่เป็นฝุ่นใต้ตีนที่ต้องสำนึกบุญคุณ และเจียมเนื้อเจียมตัว ไม่อาจหาญไปท้าทายอำนาจพวกเขาอีก หากไม่ยอมก็ตายลูกเดียว เพราะจะมีคดีความอีกมากมายที่พร้อมจะกำจัดคนตระกูลนี้ทุกคนที่หัวแข็ง  เพื่อที่ว่าประเทศไทยนั้น จะต้องอยู่ใต้กำกับของเครือข่ายพระราชานั่นเอง  ดังนั้น คดีนี้ เป็นการชี้ให้เห็นว่า เขาเริ่มบีบแล้ว เพื่อจะก้าวไปสู่เป้าหมายที่กล่าวข้างต้น





ดังนั้น หากเชื่อตามสิ่งที่กล่าวมา เราก็จะได้เห็นสิ่งต่าง ๆ เกิดขึ้นได้หลาย SCENARIOS เช่นหนึ่งในนั้นคร่าว ๆ ก็อาจจะเป็นดังนี้....





ยิ่งลักษณ์ จะต้องต่อรองเพื่อให้คดียืดออกไป หรือให้ผลทางคดีไม่รุนแรงเกินไป เช่น แค่ให้ตัดสินทางการเมือง ไม่ต้องติดคุก ไม่ต้องถูกยึดทรัพย์ แต่จะได้แค่ไหน อย่างน้อยก็ขอต่อรองต่อไป โดยสิ่งที่เครือข่ายราชาไทยได้เต็ม ๆ ก็คือ การกำจัดศัตรูตัวสำคัญไปได้แน่ ๆ จะราบคาบแค่ไหน นั่นเป็นสิ่งที่ผันไปตามบทบาทของชินวัตรและการรุกคืบของประชาชน ผมเคยบอกว่า เมื่อต่อรองยามที่เสียโอกาสและถูกรุกหนักจนเราเป๋แล้ว ชินวัตรจะไม่เหลืออำนาจใด ๆ ในการต่อรองเลย  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากพวกเขาทิ้งประชาชนให้อ่อนแอ หรือเลือกไปนั่งกราบหมาของพระราชา เพื่อขอโอกาสได้นั่งใกล้ฐานเก้าอี้ รอเศษอาหารจากโต๊ะเสวย ฝั่งคนของเจ้า ได้เปรียบทุกทาง  วันนี้สามารถชักว่าวเล่นลมอย่างย่ามใจ เพราะถือเชือกและเชื่อว่าอยู่ในชัยภูมิที่มีลมให้ชักว่าวอยู่ตลอดไป

แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ แรงลมมันจะยิ่งทวีความแรง จนถึงจุดที่พวกเผด็จการยากจะผ่อนและดึงสายว่าวได้ดั่งใจอีก  เช่น เมื่อบีบชินวัตรในเกมเลือกตั้งได้ คือ ให้ชินวัตรยอมรับรัฐธรรมนูญและยอมให้มีการเลือกตั้งได้ โดยนักการเมืองต่าง ๆ ที่อยู่ในสายชินวัตร ก็เล่นตามบทบาทที่ตัวแทนเจ้ากำหนด  ดูเหมือนจะทำได้และชินวัตรอาจจะจำยอม ด้วยคดีบีบคอไม่จบไม่สิ้น  แต่มวลชนกลับทวีความแรงทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ เศรษฐกิจถึงจุดไปต่อไม่ได้ ต่างชาติบีบสุด ๆ และขบวนปฏิวัติทั้งในและนอกประเทศเข้มแข็ง แล้วมวลชนเริ่มไม่ยอมรับให้ปกครอง ไม่ยอมให้หลอกลวง ไม่ยอมให้ใช้กำลังง่าย ๆ แล้วลุกฮือ แข็งขืนอย่างชาญฉลาด จนกลไกเผด็จการเดินหน้าไม่ได้ตามแผน  คือล้มชินวัตรเกือบได้ดั่งใจ แต่พวกเขาจะไม่สามารถครอบงำประชาชนได้อีก แล้วต้องเผชิญหน้ากับประชาชนของจริง ขบวนปฏิวัติของจริง







สิ่งที่จะเป็นตัวกำหนดสำคัญของการล่มสลายของอำนาจเผด็จการอย่างหนึ่ง ที่ชินวัตร ไม่ยอมเลือก คือการยืนข้างประชาชนอย่างเต็มที่ จริงใจ และไม่ลังเล (แต่ทำอย่างมีเชิงและไม่หยุดยั้ง เพื่อให้ประชาชนเอาชนะเผด็จการ โดยมีพวกเขาเป็นพันธมิตรที่ประชาชนรักและศรัทธายิ่งกว่าเดิม)  ที่ผ่านมา ชินวัตรทำถุกตรงไม่ใช้การแตกหัก และพยายามยื้อด้วยเชื่อว่าเวลาจะทำให้สิ่งต่าง ๆ ทำลายเผด็จการแล้วตนเองยังอยู่ได้  แต่ที่พลาดไป และสำคัญที่สุด ก็คือชินวัตร เพิกเฉยต่อสิ่งที่อยุ่ในวงเล็บ  หรือสิ่งที่พวกเขาไม่ยอมเลือกนั่นเอง

แต่อย่างไรก็ตาม อนาคตประเทศไทย ไม่มีวันจบด้วการที่เผด็จการโบราณผิดยุคผิดสมัยจะชนะประชาชนได้ตลอดไปแน่นอน  และการเผชิญหน้าระหว่างประชาชนกับเครือข่ายเจ้า จะต้องเกิดขึ้นแบบประจัญหน้ากันโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้  และเมื่อประชาชนฉลาดแล้วปรับวิธีการ ไม่ให้เครือข่ายเผด็จการหลอกลวงและครอบงำ หรือใช้ความรุนแรงได้ง่าย ๆ อีก   โดยขั้นตอนของพัฒนาการไปสู่การล่มสลายของเผด็จการและการสถาปนาอำนาจประชาชน ก็จะเกิดขึ้นตามหลักกว้าง ๆ ดังนี้

หนึ่ง มวลชนปฏิเสธ ไม่เอา ไม่ยอมรับ ไม่ร่วม ไม่ยอมให้เผด็จการปกครองต่อไป
สอง เกิดการเผชิญหน้า จนผู้ปกครองไม่สามารถปกครองต่อไปได้
สาม ประชาชนขึ้นมาปกครองประเทศ สิ้นสุดการปกครองโดยเผด็จการราชาธิปไตย
สี่ ยุคสร้างชาติ ด้วยระบอบใหม่

แล้วเมื่อใดที่ตัวแปรห้าประการหันไปในทิศทางเดียวกัน บนยุทธศาสตร์ล้มระบอบเผด็จการ สร้างเสรีประชาธิปไตย  ตามบันไดสี่ขั้นข้างบนแล้ว ความสำเร็จของฝั่งปฏิวัติสู่ประชาธิปไตยสมบูรณ์ ก็จะมาง่ายขึ้น   องค์ประกอบห้าประการ ผมเคยพูดในรายการกับหลวงตาชูพงศ์แล้วนะครับ จะไม่ขยายความ แต่ห้าตัวแปรนี้ได้แก่

  1. มวลชนปฏิวัติที่สมบูรณ์ในเชิงปริมาณและคุณภาพ
  2. กองทัพที่เปลี่ยนข้างสนับสนุนประชาชน 
  3. นานาชาติที่ช่วยเกื้อประชาชน
  4. องค์การนำของประชาชน ที่ก่อตัวและสานแรงกันทั้งในและต่างประเทศ
  5. ความชัดเจนของยุทธศาสตร์ที่กลายเป็นเอกภาพทั้งระดับสูงสุดและระดับรายละเอียดย่อย และยุทธวิธีที่สอดคล้องสอดประสานกันในทุกระดับและทุกแนวรบ โดยชูสาระที่ประชาชนได้เปรียบหรือมีจุดแข็ง อันได้แก่ ปริมาณ ชัยภูมิ ความชอบธรรม ความฉลาดในการใช้สันติ-อหิงสา และการใช้ความจริงตามสถานการณ์ต่าง ๆ เพื่อหล่อเลี้ยงขบวนปฏิวัติ
กะจะเขียนย่อย ๆ ในเรื่องการคาดเดาพลวัตทางการเมืองจากกรณีคุณยิ่งลักษณ์ แต่ลงเอยด้วยอะไรที่เห็นว่าสำคัญกว่า .... ก็คงโอเคนะครับ อิๆ  วันหลังค่อยขยายความกันอีกทีครับ 






No comments:

Post a Comment

Note: Only a member of this blog may post a comment.

Lesson 9: Learning Grammar Through Conversations by Dr. Snea Thinsan

Lesson 9: Learning Grammar Through Conversations by Dr. Snea Thinsan Lesson 9: Learning Grammar Through Convers...